วันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ประเพณีปอยส่างลอง

ประเพณีปอยส่างลอง






          ประเพณีปอยส่างลอง หรือที่เรียกว่า “งานบวชลูกแก้ว” เป็นงานประเพณีประจำของชาวไต หรือไทยใหญ่ ซึ่งได้มีการจัดสืบทอดกันมายาวนาน คำว่า "ปอย" แปลว่า "งาน" ซึ่งหมายถึง งานเทศกาล งานรื่นเริง งานมงคลต่าง ๆ "ส่าง" แปลว่า "พระ-เณร" และ "ลอง" มาจาก คำว่า "อะลอง" แปลว่า "กษัตริย์ ราชา เกี่ยวกับเจ้าแผ่นดิน" เมื่อรวมกันก็หมายถึง งานเตรียมบวชเป็นพระเณรของเด็กที่แต่งตัวเป็นกษัตริย์หรือราชานั่นเอง
          โดยงาน “ปอยส่างลอง” นี้ จะนิยมจัดในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม ถึง เดือนพฤษภาคมของทุกปี เนื่องจากเป็นช่วงที่ชาวบ้านมีเวลาว่างเว้น หลังจากเก็บเกี่ยวผืชผลเกษตรในไร่นาแล้วเสร็จ ประกอบกับเป็นช่วงปิดเทอมปิดภาคเรียนของเด็กๆ สาเหตุที่ชาวไทยใหญ่ได้จัดงานนี้ก็เพราะต้องการให้บุตรหลานได้มีโอกาสบรรพชา เป็นพระภิกษุสามเณรเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา ดังจะเห็นได้ว่าชายชาวไทยใหญ่ที่นับถือพระพุทธศาสนา ล้วนจะได้ผ่านการบวชเป็นพระหรือสามเณรจากงานประเพณีปอยส่างลองนี้กันมาแทบ ทั้งสิ้น



ขั้นตอนการจัดงานปอยส่างลอง

          ก่อนถึงวันประเพณีปอยส่างลอง อย่างน้อย 10 วัน พ่อแม่จะนำเด็กที่จะเข้ารับการบวช ไปฝากไว้กับหลวงพ่อ หรือพระอาจารย์ที่วัด เพื่อรับการฝึกสอนคำรับศีล คำให้พร คำขอบวช รวมถึงการกราบไว้
          วันแรกของปอยส่างลอง หรือ ที่เรียกกันว่า วันเอาส่างลอง หลังจากส่างลองได้ทำพิธีรับศีลแล้ว ผู้เป็นพ่อแม่รวมถึงเจ้าภาพจะจัดเลี้ยงอาหาร 12 อย่าง เป็นมื้อแรกแก่ส่างลอง จากนั้นจะนำส่างลองแห่รอบวิหาร 3 รอบ และแห่ไปกราบคารวะศาลหลักเมือง จากนั้น ในช่วงบ่ายก็จะนำส่างลองไปคารวะตามวัดต่างๆ
          วันที่สอง หรือ "วันรับแขก" ทั้งส่างลอง และเจ้าภาพ จะคอยให้การต้อนรับแขกจากที่ต่างๆ ที่ได้มีการเชิญไว้ก่อนล่วงหน้า ซึ่งจะมาร่วมทำบุญด้วย ซึ่งวันนี้จะเป็นวันที่มีการเลี้ยงฉลองแขกและญาติๆ ที่มาร่วมงานอย่างสนุกสนาน
          วันสุดท้าย คือ "วันบวช" พิธีของวันนี้จะเริ่มด้วยการนำส่างลองไปแห่รอบวิหาร 3 - 7 รอบ จากนั้นจะนำส่างลองขึ้นวัดเพื่อขออนุญาตทำการบรรพชาจากพระผู้ใหญ่ เมื่อท่านเจ้าอาวาส หรือพระผู้ใหญ่ได้อนุญาตแล้ว ส่างลองก็จะพร้อมกันกล่าวคำบรรพชาและอาราธนาศีล แล้วจึงเปลี่ยนเครื่องแต่งกายจากชุดเสื้อผ้าส่างลองที่สวยงามมาเป็นผ้ากาสาวพัตร์สีเหลือง และเป็นพระภิกษุ - สามเณรอย่างสมบูรณ์


องค์ประกอบงานบวช “ปอยส่างลอง” 
1. ชุดส่างลอง (เครื่องแต่งกายต่างๆ)
2. ร่มทอง (สำหรับกางให้ส่างลอง)
3. ตะแป - พ่อส้าน แม่ส้าน (ผู้คอยปรนนิบัตร)
4. จีวร 
5. อัฐบริขาร (ประกอบด้วย เครื่องใช้ต่างๆ)
6. ต้นเงิน
7. สังฆทาน
8. ต้นข้าวตอก หรือ ต้นข้าวแตก


ที่มา : http://www.khonkhurtai.org/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น